เสริมหน้าอกแล้วขึ้นเครื่องบิน ทำให้ซิลิโคนแตก!! ได้หรือไม่ ??
จากข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ที่นักร้องสาวชาวเวียดนาม เกิดเหตุซิลิโคนที่เสริมหน้าอกมา เกิดระเบิดในขณะโดยสารทางเครื่องบิน จนรู้สึกเจ็บปวด และอักเสบอย่างรุนแรง ภายหลังการวินิจฉัยพบว่า ซิลิโคนเสริมหน้าอก เมื่อ 7 ปีที่แล้วเกิดแตก ต้องทำการผ่าตัดโดยด่วนนั้น
เครดิตภาพประกอบจากข่าวสด : https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_1769910
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามมากมายเกิดขึ้นในโลกโซเชี่ยล ถึงมาตรฐานความปลอดภัยของซิลิโคน แอดมินจึงขอนำคำถามที่หลาย ๆ คนยังสงสัย มาสอบถาม นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม รพ.บางมด เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริงตามหลักการแพทย์ค่ะ
นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม รพ.บางมด
Q : การที่เกิดเหตุซิลิโคนแตก หรือระเบิด เป็นเหตุมาจากการขึ้นเครื่องบินจริงหรือไม่ ?
A : โดยทั่วไปถุงซิลิโคนเต้านมที่ได้รับมาตรฐานทางการแพทย์ จะทนต่อแรงบีบ (Pressure) ได้สูงมาก หากเปรียบเทียบกับแรงดันในเครื่องบิน เมื่อเราบินอยู่ที่ระดับสูงประมาณ 35,000 ฟุต ซึ่งภายในเครื่องบินจะมีการปรับแรงดันให้อยู่ที่ 11-12 PSI (PSI เป็นหน่วยความดัน เป็น ปอนด์ ต่อ ตารางนิ้ว) ซึ่งถือว่าน้อยมากครับ หากเปรียบเทียบกับการวิจัยของถุงซิลิโคนเต้านม จะพบว่า ความดันในเครื่องบิน น้อยกว่าความดันที่สามารถทำให้ถุงซิลิโคนเต้านม (ที่ได้มาตรฐาน) แตกได้ถึง 10-15 เท่า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ถุงซิลิโคนจะแตกหรือรั่วซึม จากการขึ้นเครื่องบินครับ
เครดิตรูปภาพ จาก http://www.besttripholiday.com
Q : ปัจจัยอะไรบ้าง ที่อาจส่งผลทำให้ซิลิโคนแตก หรือรั่วซึม ?
A : วัสดุซิลิโคนที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์มีการผลิตมาหลายรุ่นตามยุคสมัย ในปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว ในปัจจุบันโอกาสที่จะรั่ว ซึม หรือแตก มีโอกาสน้อยมาก โดยทั่วไปมีการรับประกันตลอดชีวิต แต่สิ่งสำคัญที่มีโอกาสทำให้ซิลิโคน แตก รั่ว ซึม ได้นั้น มีปัจจัยดังต่อไปนี้
1. คุณภาพของซิลิโคน
2. ความหนา – ตัวถุงซิลิโคนจะมีตัวหุ้ม หรือที่เรียกว่า Shell ตัวหุ้มนี้ จะต้องมีความหนาที่ได้มาตรฐาน ถ้าตัวหุ้มมีความบาง ก็มีโอกาสที่จะแตก หรือรั่วมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ซิลิโคนที่เสริมก้น เสริมสะโพก จะมี shell ที่หนากว่าซิลิโคนเสริมเต้านม เนื่องจากจะต้องรองรับแรงกดทับที่มากกว่า เช่น การนั่ง การทำกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น
3. ระยะเวลาในการใส่ – แม้ว่าถุงซิลิโคนที่ได้มาตรฐานในปัจจุบัน ทางบริษัทจะมีการรับประกันคุณภาพตลอดชีวิต เช่น Mentor Natrelle เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง วัสดุทุกประเภทมีโอกาสเสื่อมคุณภาพได้ครับ ซิลิโคนที่คุณภาพสูง โอกาสแตก / รั่วซึม แม้โอกาสจะน้อยมาก ๆ ในปัจจุบัน (<0.5-1%) แต่เราก็ไม่ควรประมาทครับ
Q : วิธีการสังเกตว่าซิลิโคนแตก หรือรั่วซึม เราจะสังเกตอย่างไร ?
A : สำหรับผู้ที่เคยเสริมหน้าอกไปแล้ว มีอาการดังต่อไปนี้ ควรมาปรึกษาแพทย์นะครับ เพราะอาจมีการแตก (Ruptured Implant) หรือรั่วซึม (Silicone Leakage) ของซิลิโคนได้ครับ
• หน้าอกผิดรูปไปจากเดิม
• ปวด แสบ บริเวณหน้าอก
• หน้าอกมีขนาดเล็กลงอย่างฉับพลัน
• หน้าอกแข็ง
• บางคน ไม่มีอาการใดๆ (Silence Rupture)
หากตรวจพบว่าซิลิโคนรั่วซึม หรือ แตก ไม่ต้องกังวลมากครับ ทางการแพทย์ซิลิโคนที่แตกไม่ได้มีอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายครับ
ส่วนการผ่าตัดรักษา คือ การนำซิลิโคนเก่าออก (Remove Silicone) ล้างเนื้อเยื่อให้สะอาด เลาะพังผืดออก (Capsulectomy) และใส่ซิลิโคนใหม่ ครับ
รูปประกอบ : กรณีตัวอย่างคนไข้ที่เคยเสริมหน้าอกจากคลินิกแห่งหนึ่ง ด้วยซิลิโคนที่ไม่ได้คุณภาพ และเดินทางมาทำศัลยกรรมแก้ไขนำซิลิโคนเก่าออกที่โรงพยาบาลบางมด
Q : สำหรับคนที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกมาแล้ว จำเป็นต้องตรวจติดตามอะไรหรือไม่ ?
A : Guildline ล่าสุดของ FDA. แนะนำให้คนที่เคยเสริมหน้าอกด้วยถุงซิลิโคน ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และแนะนำให้ตรวจด้วย MRI ครั้งแรกหลังจากเสริมหน้าอกไปแล้ว 3 ปี หลังจากนั้นให้ตรวจทุก 2 ปี ครับ (MRI เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด ในการตรวจการแตกหรือรั่วซึมของซิลิโคน แม้จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ก็ตามครับ)
Q : อะไรคือหลักคิดสำคัญในการเลือกทำศัลยกรรมความงาม ??
A : จากข่าว และอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น เช่น ซิลิโคนแตก ซิลิโคนรั่ว หากวิเคราะห์จากสาเหตุที่แท้จริงแล้ว มักเกิดจากสาเหตุ คือ การเลือกที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง เช่น วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ , แพทย์ผู้ผ่าตัดไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือสถานประกอบการ คลินิกไม่ได้รับมาตรฐาน เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการทำศัลยกรรมความงาม คือ ความปลอดภัย และจะต้องรู้จักเลือก ในที่นี้หมายถึง รู้จักเลือกสถานประกอบการ โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน รู้จักเลือกแพทย์ที่จบเฉพาะทาง และมีประสบการณ์มาก รู้จักเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานทางการแพทย์ ทำให้น้อยที่สุด แต่แก้ไขตรงปัญหามากที่สุด และสุดท้ายคือ ทำให้พอดีกับร่างกายของเรา เพื่อความปลอดภัยที่สูงสุดครับ